ลักษณะที่โดดเด่นของผ้าบาติกคือ ศิลปหัตถกรรมบนผืนผ้าอันงดงาม เกิดจากฝีมือและความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ที่เขียนลวดลายสีสรรและเอกลักษณ์ ที่สะท้อนถึงศิลปวัฒนธรรมความเป็นชาตินั้นๆ เช่น การนำเสนอภาพธรรมชาติ ภาพวัฒนธรรม และภาพจากจินตนาการของผู้เขียน
สถานที่ผลิต บ้านเลขที่ 93/50 หมู่ที่ 5 ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต
ประธานกลุ่ม นางภัณฑิลา เหมรักษ์
ประวัติความเป็นมา จุดเริ่มเกิดจากนางภัณฑิลา เหมรักษ์ เป็นคนชอบงานศิลปะทั้ง ๆ ที่เรียนสายวิทย์ต่อมาได้ซื้อภาพเขียนผ้าบาติกมาติดฝาผนังที่บ้าน และนั่งมองภาพเขียนผ้าบาติกแล้วสร้างจินตนาการขึ้นมา จึงอยากทดลองเขียนผ้าบาติกดูบ้าง จึงไปซื้อผ้าและอุปกรณ์มาทดลองทำ แรกๆ ผลงานไม่สวย แต่ก็ได้ทำตามความตั้งใจ เพราะมีใจรักในงานศิลปะการทำผ้าบาติก และได้ทำผ้าบาติกเป็นงานอดิเรกเรื่อยมาเป็นการฝึกฝนพัฒนาฝีมือขึ้นเรื่อยๆ
ต่อมา ปี 2540 รู้จักกับคนขายเสื้อบาติกบนแหลมพรหมเทพ ก็เลยฝากผลงานไปขาย ปรากฏว่าขายได้ ทำให้มีรายได้ ต่อมาความต้องการของตลาดมีมากขึ้น จึงหันมาทำผ้าบาติกเป็นอาชีพหลัก และได้เผยแพร่ความรู้และสอนการทำผ้าบาติกให้กับผู้ที่สนใจในหมู่บ้าน เพื่อกระจายรายได้ให้กับคนในชุมชน จนกระทั่งปี 2546 จึงได้รวบรวมผู้ที่สนใจจัดตั้งเป็นกลุ่มทำผ้าบาติก หมู่ที่ 5 ตำบลท่าฉัตรไชย ตำบลไม้ขาวขึ้น โดยใช้ชื่อกลุ่มว่า “กลุ่มรักษ์บาติก” เพราะเกิดจากความรักในศิลปะการทำผ้าบาติกและต้องการจะสืบสานศิลปะบนผืนผ้า อันงดงามนี้สืบไป โดยองค์การบริหารส่วนตำบลไม้ขาวได้สนับสนุนงบกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นเงิน 100,000 บาท ซึ่งทางกลุ่มก็ได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง โดยการสนับสนุนของหน่วยงานราชการต่างๆ เช่น พัฒนาชุมชน อุตสาหกรรม พาณิชย์ เกษตรและสหกรณ์ และอีกหลายๆ หน่วยงาน และต่อมาได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก OTOP และปี 2553 ได้ส่งเสื้อเชิ้ตบาติกเข้าคัดสรรฯ ได้ระดับ 5 ดาว
เอกลักษณ์/จุดเด่นผลิตภัณฑ์ ลักษณะที่โดดเด่นของผ้าบาติก คือ ศิลปหัตถกรรมบนผืนผ้าอันงดงาม เกิดจากฝีมือและความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ที่เขียนลวดลายสีสรรและเอกลักษณ์ ที่สะท้อนถึงศิลปวัฒนธรรมความเป็นชาตินั้นๆ เช่น การนำเสนอภาพธรรมชาติ ภาพวัฒนธรรม และภาพจากจินตนาการของผู้เขียน เป็นภาพเขียน Free Hand 1 ตัว 1 ลาย 1 เดียวในโลก (กรณีไม่ใช่เสื้อที่สั่งทำเป็นหมู่คณะ)
มาตรฐานและรางวัลที่ได้รับ - คัดสรร OTOP ระดับ 5 ดาว ปี 2553 - มผช. เลขที่ 51/2546 ปี 2551
ความสัมพันธ์กับชุมชน ฝีมือ แรงงานการทำผ้าบาติก มาจากสมองและสองมือของคนในชุมชน ที่มีจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์สร้างชิ้นงานบนผืนผ้า และตัดเย็บตามรูปแบบที่ต้องการ เช่น ผ้าเช็ดหน้า เสื้อ กระเป๋า ผ้านุ่ง กางเกง และอื่นๆ ตามต้องการ สร้างรายได้ให้คนในชุมชน เช่น คนเขียนลาย คนลงสี คนเคลือบน้ำยาผ้าและลงเทียน คนต้นเทียน คนขับรถที่ฝากผ้าไปตัดเย็บ คนเย็บผ้า และคนรีดผ้า
วัตถุดิบและส่วนประกอบ
1) ผ้าที่ทำมาจากเส้นใยธรรมชาติ เช่น ผ้ามัสลิน ผ้าฝ้าย ผ้าลินิน ผ้าไหมไทย (ก่อนนำผ้ามาใช้ควรซักทำความสะอาดก่อนโดยซักผ้ากับน้ำเปล่าหรือน้ำส้มสายชู เพื่อให้สารฟอกขาวหรือแป้งที่ติดอยู่กับผ้าออกให้หมด)
2) ปากกาเขียนเทียน ใช้ตักน้ำเทียนเพื่อเขียนเส้นเทียนลงบนผ้าสร้างสรรค์เป็นลวดลายต่างๆ
3) เทียนสำหรับเขียนบาติก ใช้สำหรับเขียนลวดลายต่างๆ บนผืนผ้า เพื่อกั้นสีไม่ให้ไหลซึมเข้าหากัน
4) สีสำหรับทำผ้าบาติก เป็นสีย้อมเย็น มีลักษณะเป็นผง นำสีมาผสมกับน้ำอุ่น ปัจจุบันมีสีให้เลือกหลากหลาย
5) ไส้แทงปากกาเขียนเทียน เป็นอุปกรณ์ที่มีด้ามเป็นไม้ ส่วนปลายเป็นเส้นลวดขนาดเล็ก หรืออาจจะใช้สายกีต้าร์เส้นเล็กๆ แทนก็ได้ เพื่อแก้ปัญหาการอุดตันของปากกาเขียนเทียน โดยใช้ส่วนที่เป็นเส้นลวดแทงที่ปลายท่อของปากกา
6) น้ำยาเคลือบผ้ากันสีตกหรือโซเดียมซิลิเกต
7) พู่กันเบอร์ 8,10,12,24 ใช้สำหรับระบายสีผ้าควรเป็นพู่กันสำหรับระบายสีน้ำ ใช้ได้ทั้งชนิดกลมและแบน
8) ภาชนะต้มเทียน ควรเป็นโลหะที่ทนต่อความร้อนได้ดี เช่น อลูมิเนียม สแตนเลส เหล็ก เป็นต้น
9) เตาต้มเทียน ควรเป็นเตาไฟฟ้าที่ปรับอุณหภูมิได้ เพื่อควบคุมความร้อนของน้ำเทียนได้พอดี ทำให้การเขียนเส้นเทียนไม่มีปัญหา
10) เฟรมไม้ขนาดตามผลิตภัณฑ์ เช่น - ผ้าเช็ดหน้า ใช้เฟรมขนาด 12 X 12 นิ้ว หรือ 17 X 17 ซม. - เสื้อ ใช้เฟรมขนาด 135 X 180 ซม.
11) อุปกรณ์สำหรับต้มผ้า ได้แก่ กะละมังอลูมิเนียมหรือสแตนเลส ปิ๊บน้ำ หรือหม้อที่สามารถต้มน้ำเดือดได้ ส่วนเตาที่ใช้ต้มผ้าจะเป็นเตาแก๊สหรือเตาถ่านก็ได้
12) อุปกรณ์ทั่วไป ได้แก่
- แปรงขนาดใหญ่หรือลูกกลิ้ง สำหรับทาน้ำยาเคลือบกันสีตก
- กระป๋องพลาสติกขนาดเล็กสำหรับเก็บสีที่ผสมแล้ว
- จานสีหรือรางพลาสติกสำหรับทำน้ำแข็งภายในตู้เย็นสำหรับผสมสีเพื่อระบายควรเป็นสีขาว
- ดินสอ 2B หรือ 3B /ยางลบ /ไม้บรรทัดขนาดยาว
- สายวัด /กรรไกร /คัดเตอร์
- กะละมังหรือถังน้ำพลาสติกใช้ในการซักล้าง
- ถุงมือยางใช้ป้องกันไม่ให้มือสัมผัสกับสารเคมีจากน้ำยาโซเดียมซิลิเกต
- สบู่เหลวหรือผงซักฟอก
ขั้นตอนการผลิต
1) ขึงผ้าบนกรอบไม้ ให้นำผ้ามาขึงบนกรอบไม้ที่ทาเทียนไว้แล้ว โดยใช้ด้ามพู่กันถูบนผ้าไปมาทั้ง 4 ด้าน ดึงผ้าให้ตึงทีละด้าน
2) ร่างแบบ นำแบบมาวางด้านล่างกรอบไม้ที่ขึงผ้าไว้ ใช้ดินสอร่างภาพตามแบบที่ต้องการ
3) เขียนเทียน ใช้ปากกาเขียนเทียนเขียนตามเส้นดินสอที่ร่างแบบไว้
4) ระบายสี ระบายสีภาพตามแบบที่ร่างไว้
5) เคลือบน้ำยากันสีตก ใช้แปรงจุ่มโซเดียมซิลิเกตทาให้ทั่วผืนทิ้งไว้ 6 – 12 ชั่วโมง
6) ซักน้ำยาเคลือบ นำผ้าไปซักล้างโซเดียมซิลิเกตด้วยน้ำธรรมดา เปลี่ยนน้ำบ่อยๆ จนน้ำที่ซักใส
7) ต้มลอกเทียนและทำความสะอาดผ้า 2 ครั้ง ดังนี้
- ต้มผ้าครั้งแรกด้วยน้ำร้อนให้ทั่วผืน แล้วใช้ไม้เกี่ยวผ้ายกขึ้น
- ลงหลายๆครั้งให้เทียนหลุด
- ต้มผ้าครั้งที่สอง โดยใช้สบู่เหลวหรือผงซักฟอกใส่ลงไปในน้ำร้อน แล้วล้างผ้าให้สะอาด นำไปผึ่งให้แห้งในที่ร่มหรือแดดอ่อน จากนั้นก็เป็นขั้นตอนการตกแต่งผ้าหรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ผ้าบาติกอื่น ๆ เช่น เย็บผ้าเป็นผ้าเช็ดหน้า หรือตัดผ้าเป็นเสื้อสุภาพบุรุษ - สตรี และอื่น ๆ ตามต้องการ
เทคนิค/เคล็ดลับในการผลิต ขณะทำผ้าบาติก การผสมน้ำเทียนต้องพอดี เวลาเขียนลายเส้นเทียนจะคมชัดและสวยงาม ไม่แตกง่าย สำหรับสีลงผ้าบาติกจะผสมน้ำอุ่นเพื่อให้สีแตกตัวได้ดี และมีสีสดสวย การผสมสีควรผสมให้พอดีในการใช้งาน ไม่ให้เหลือแต่ละครั้ง การเคลือบน้ำยากันสีตก ต้องทิ้งไว้อย่างน้อย 12 ชั่วโมง เพื่อให้น้ำยาทำปฏิกิริยาจับเนื้อผ้าให้คงทนยิ่งขึ้น เคล็ดลับ ต้องใส่ใจในการทำทุกขั้นตอนและมีสมาธิด้วย
แหล่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์
1) สถานที่ผลิต บ้านเลขที่ 93/50 หมู่ที่ 5 ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต
2) ศูนย์ OTOP องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต
3) ร้านกรทอง
4) ร้านค้าประตูเมืองภูเก็ต
5) ออกบูธจำหน่ายในงานที่ส่วนราชการและเอกชนจัดทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัด
6) รับสั่งซื้อสั่งจ้างทางโทรศัพท์และทาง e-mail
7) นำส่งทางไปรษณีย์/ สนามบิน /และสถานีขนส่งตำบลโคกกลอย