ชาวล้านนาให้ความสำคัญวันปีใหม่เมืองมากเพราะถือว่าเป็นการแสดงความเลื่อมใส ศรัทธาต่อพุทธศาสนา แสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ
ความสำคัญ ชาวล้านนาให้ความสำคัญวันปีใหม่เมืองมากเพราะถือว่าเป็นการแสดงความเลื่อมใสศรัทธาต่อพุทธศาสนา แสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ ความสามัคคีและสนุกสนานในหมู่คณะ และยังเป็นเทศกาลที่ญาติพี่น้องซึ่งแยกย้ายกันอยู่ตามที่ต่าง ๆ ได้มีโอกาสกลับมาพบปะสังสรรค์กัน จึงนับเป็นการรวมญาติครั้งใหญ่ที่สุดในรอบปี
พิธีกรรม วันแรกของงาน คือ วันที่ 13 เมษายน ตามประเพณีพื้นเมืองเรียกว่า วันสังขารล่อง คือ หมายความว่า วันนี้สิ้นสุดศักราชเก่า ในวันนี้จะได้ยินเสียงยิงปืนจุดประทัดกันแต่เช้าตรู่ การยิงปืนและการจุดประทัดนี้ มีความเชื่อถือกันแต่โบราณว่า เป็นการขับไล่เสนียดจัญไรต่าง ๆ ให้ล่องไปพร้อมกับสังขาร นอกจากนั้นชาวบ้านก็จะกวาดขยะมูลฝอยตามลานบ้านไปกองไว้แล้วจุดไฟเผาเสียและทำความสะอาดปัดกวาดบ้านเรือนให้เรียบร้อยเก็บเสื้อผ้ามุ้งหมอนผ้าปูที่นอนไปซัก อุปกรณ์ที่ซักไม่ได้ก็นำออกไปผึ่งแดดเสร็จแล้วก็ชำระร่างกายสระผม (ดำหัว) ให้สะอาด และมีการแห่พระพุทธรูปสำคัญประจำเมืองด้วย
ถัดจากวันสังขารล่อง คือ วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า วันเนา หรือ วันเน่า ในวันนี้ตามประเพณีถือว่าเป็นวันสำคัญและเป็นมงคลแก่ชีวิต จะได้ประสบแต่ความดีงามตลอดปี จะไม่ทำอะไรที่ไม่เป็นมงคล เช่น ด่าทอหรือทะเลาะวิวาทกัน ตอนเช้าต่างก็จะไปตลาดเพื่อจะจัดซื้ออาหารและข้าวของมาทำบุญเรียกอีกอย่าง หนึ่งว่า วันดา (คือวันสุขดิบทางใต้) ตอนบ่ายจะมีการขนทรายเข้าวัดโดยขนจากแม่น้ำปิงแล้วนำไปยังวัดที่อยู่ใกล้ บ้านเพื่อก่อเจดีย์ทรายตามลานวัด เจดีย์ที่ก่อขึ้นจะตบแต่งด้วยธงทิวสีต่าง ๆ ธงสีนี้ชาวพื้นเมืองเรียกว่า ตุง ทำด้วยกระดาษสี ตัดเป็นรูปสามเหลี่ยมชายธงและรูปร่างต่าง ๆ ติดปลายไม้ อีกชนิดหนึ่งตัดเป็นรูปลวดลายต่าง ๆ ติดปลายไม้เรียกว่า ช่อ การทานหรือถวายตุงหรือช่อนี้ถือกันว่าเมื่อตาย (สำหรับผู้ที่มีบาปหนักถึงตกนรก) จะสามารถพ้นจากขุมนรกได้ด้วยช่อและตุงนี้ ส่วนการขนทรายเข้าวัดนั้นถือว่าเป็นการทดแทนที่เมื่อตนเดินผ่านหรือเข้าออก วัด ทรายในวัดย่อมจะติดเท้าออกไปนอกวัดเป็นบาปกรรม ทางวัดจะได้ใช้ทรายเพื่อประโยชน์ในการสร้างหรือถมลานวัด เจดีย์ทรายนี้จะทำพิธีถวายทานในวันรุ่งขึ้น และจะมีการปล่อยนกปล่อยปลาอีกด้วย
ในวันขนทรายนี้ จะมีการเล่นรดน้ำกันและเป็นการเล่นอย่างสนุกสนานที่สุดวันหนึ่ง ผู้หญิงจะแต่งกายพื้นเมืองจะนุ่งผ้าซิ่นสวมเสื้อแขนยาวทัดดอกเอื้องที่มวยผม ส่วนผู้ชายจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าชุดพื้นเมืองคล้องคอด้วยดอกมะลิ ถือขันหรือโอคนละใบใส่น้ำเพื่อรดกันอย่างสนุกสนาน และขนทรายเข้าวัดด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสทุก ๆ คน
วันที่สาม ตรงกับวันที่ 15 เมษายน เรียกว่า วันพญาวัน จะมีการ ดำหัว ซึ่งเป็นประเพณีอย่างหนึ่งของชาวเมืองเหนือ คือ การนำลูกหลานญาติพี่น้องไปขอขมาลาโทษ(สูมาคาระวะ) ต่อผู้ใหญ่ในตอนเย็น
วันนี้ตั้งแต่เช้าตรู่ชาวบ้านจะจัดอาหารหวานคาวใส่สำรับไปถวายพระที่วัด เป็นการถวายภัตตาหารหรือที่เรียกกันว่า ทานขันข้าว เป็นการถวายทานเพื่ออุทิศส่วนกุศลถึงญาติพี่น้องบิดามารดาที่ล่วงลับไปแล้วอีกด้วย รวมทั้งถวายเจดีย์ทราย ถวายจ่อตุง ถือว่าเป็นอานิสงส์
สาระ ประเพณีปีใหม่เมือง เป็นประเพณีที่แสดงถึงความกตัญญูกตเวที มีความเอื้ออาทรต่อกัน เป็นการสร้างความสามัคคีในหมู่พี่น้องและชุมชน ด้วยการร่วมกันทำอาหารคาว - หวาน สำหรับไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ล่วงลับ การขนทรายเข้าวัดเพื่อถวายทานเจดีย์ทราย ถวายช่อตุง รดน้ำดำหัวผู้อาวุโสที่เคารพนับถือ ด้วยการร่วมตกแต่งเครื่องสักการะดำหัว ตลอดจนการสรงน้ำพระพุทธรูปสำคัญประจำเมือง ประจำวัดและประจำบ้าน