งานประเพณีกำฟ้าไทยพวนบ้านทุ่งโฮ้ง เพื่อจะให้เยาวชนรุ่นหลังได้รำลึกถึงบรรพบุรุษของไทยพวนอย่างลึกซึ้งและหวงแหน และสร้างความสามัคคีในหมู่พวนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ประเพณีกำฟ้านี้ ชาวไทยพวนทุ่งโฮ้งได้ถือปฏิบัติกันมานานเป็นร้อยกว่าปี
สถานที่จัดงาน ณ หมู่บ้านทุ่งโฮ้ง อำเภอเมือง จ.แพร่
จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 1-4 กุมภาพันธ์ ของทุกปีโดยประมาณ
เมื่อย่างเข้าเดือนสาม หากมีใครสักคนได้ยินเสียงฟ้าร้องเป็นครั้งแรก ผู้เฒ่าชาวไทยพวนจะพูดกับลูกหลานว่า "ฟ้าฮ้องแล้ว พวกเจ้าได้ยินไหม วันฮ่งต้องกำฟ้าเน้อ ถ้าไม่มีผีฟ้าจะลงโทษเจ้ามิให้อยู่เย็นเป็นสุข ผู้ใดบ่เชื่อฟัง ฟ้าจะผ่าถึงตายเน้อ" ประเพณีกำฟ้า หรือประเพณีเดือน 3 เป็นประเพณีของชาวไทยพวนที่ถือปฏิบัติกันมากว่า 200 ปีแล้ว กำฟ้า เป็นประเพณีที่เกี่ยวข้องกับการนับถือ และสักการะเทวดาที่สิงสถิตอยู่บนฟ้า หรือที่เรียกว่า ผีฟ้า ซึ่งชาวไทยพวนในจังหวัดต่าง ๆ ได้ยึดถือและปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณ หากปีใดชาวไทยพวนไม่ปฏิบัติตามก็จะเกิดความแห้งแล้งอดอยากหรือมีเหตุทำให้ ฟ้าผ่าคนตายซึ่งถือว่าเป็นการลงโทษอย่างร้ายแรงของผีฟ้า ทำให้ชาวไทยพวนทั้งหลายเกรงกลัวต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
จุดมุ่งหมายสำคัญของประเพณีกำฟ้าอยู่ที่การให้โอกาสแก่ชาวไทยพวน ซึ่งทำไร่ไถนาเหน็ดเหนื่อยมาโดยตลอด ได้มีโอกาสพักผ่อนเป็นระยะ ๆ ถึงสามระยะในหนึ่งปี ถ้าไม่มีประเพณีนี้ชาวไทยพวนก็อาจจะพักผ่อนกันเอง หรือบางคนอาจจะไม่พักผ่อนก็ได้ การกำหนดให้มีพิธีกำฟ้าจึงเป็นการบังคับทุกคนให้หยุดงานพร้อม ๆ กัน ได้มีโอกาสพบปะสังสรรค์รื่นเริงกันอย่างสนุกสนาน ทำให้เกิดความเข้าอกเข้าใจสมัครสมานสามัคคีกัน นอกจากนี้ในระหว่างพิธีก็จะมีการละเล่นอย่างสนุกสนานทำให้ได้พักผ่อนหย่อนใจ อีกทางหนึ่งด้วย เปรียบได้กับประเพณีตรุษไทยและตรุษจีนซึ่งก็มีจุดมุ่งหมายใกล้เคียงกับพิธี กำฟ้าของชาวไทยพวน แต่แตกต่างกันในวิธีการปฏิบัติเท่านั้น
สำหรับงานประเพณีกำฟ้าไทยพวน จังหวัดแพร่นั้น จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีที่บ้านทุ่งโฮ้ง โดยหมู่บ้านทุ่งโฮ้ง เป็นชุมชนไทยพวนที่ได้ย้ายถิ่นฐานมาจากเมืองเชียงขวาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในปัจจุบัน บ้านทุ่งโฮ้งนับเป็นแหล่งผลิตเสื้อ หม้อห้อม ที่มีชื่อเสียงของประเทศ และเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดแพร่