งานประเพณีจองพารา คือประเพณีส่วนหนึ่งในงานเทศกาลออกพรรษา (งานปอยเหลินสิบเอ็ด) คำว่า “จองพารา” เป็นภาษาไทยใหญ่แปลว่า “ปราสาทพระ”
งานประเพณีจองพารา คือประเพณีส่วนหนึ่งในงานเทศกาลออกพรรษา (งานปอยเหลินสิบเอ็ด) คำว่า “จองพารา” เป็นภาษาไทยใหญ่แปลว่า “ปราสาทพระ” การบูชาจองพารา คือการสร้างปราสาทเพื่อคอยรับเสด็จพระพุทธเจ้าที่จะเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้น ดาวดึงส์ เทศกาลนี้จัดขึ้นระหว่างวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันแรม 8 ค่ำ เดือน 11 โดยก่อนถึงวันงานจะมีการจัดงานตลาดนัดออกพรรษามีการนำสินค้าต่างๆ ที่จะใช้ในการทำบุญ เช่น อาหาร ขนม ดอกไม้ เครื่องไทยทานมาวางขายเพื่อให้ชาวบ้านได้หาซื้อข้าวของเครื่องใช้ในการ เตรียมงาน และมีการจัดเตรียมสร้าง “จองพารา” ซึ่งเป็นปราสาทจำลอง ทำด้วยโครงไม้ไผ่ ประดับลวดลายด้วยกระดาษสา กระดาษสีต่างๆ หน่อกล้วย อ้อยและโคมไฟ ตกแต่งอย่างสวยงามเพื่อใช้สมมติเป็นปราสาทรับเสด็จพระพุทธองค์จากสวรรค์ จากนั้นก็จะยก “จองพารา” ขึ้นไว้นอกชายคา นอกรั้ว หรือบริเวณกลางลานทั้งที่บ้านและที่วัด
ในวันขึ้น 15 ค่ำ อันเป็นวันออกพรรษานั้น ตั้งแต่เช้าตรู่ประชาชนพร้อมใจกันไปทำบุญตามวัด บางวัดจัดให้มีการตักบาตรเทโว ส่วนในตอนเย็นจะนำดอกไม้ธูปเทียนและขนมข้าวต้มไปขอขมาบิดามารดาและญาติผู้ใหญ่
ก่อนย่ำรุ่งของวันแรม 1 ค่ำ จะมีพิธี “ซอมต่อ” คือการอุทิศเครื่องเซ่นแก่สิ่งที่ชาวไตถือว่ามีบุญคุณในการดำเนินชีวิต โดยนำกระทงอาหารเล็กๆ ที่จุดเทียนติดไว้ด้วยไปตั้งไว้ตามสถานที่ต่างๆ แสงประทีปนับร้อยนับพันดวงตามวัด สถูป และบ้านเรือนในตอนใกล้รุ่งเป็นภาพที่งดงามน่าประทับใจมาก
ก่อนจะถึงวันแรม 8 ค่ำ จะมีพิธี “หลู่เตนเหง” คือ การถวายเทียนพันเล่ม โดยแห่ต้นเทียนไปถวายที่วัด และใน “วันกอยจ้อด” คือวันแรม 8 ค่ำ อันเป็นวันสุดท้ายของเทศกาลออกพรรษา จะมีพิธี “ถวายไม้เกี๊ยะ” โดยนำฟืนจากไม้เกี๊ยะ (สนภูเขา) มามัดรวมกันเป็นต้นสูงประมาณไม่ต่ำกว่า 2.5 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณไม่ต่ำกว่า 30 เซ็นติเมตร แล้วนำเข้าขบวนแห่ประกอบด้วยฟ้อนรูปสัตว์ต่างๆ และเครื่องประโคมไปทำพิธีจุดถวายเป็นพุทธบูชาที่ลานวัด เป็นอันสิ้นสุดเทศกาลออกพรรษาของชาวไต