งานประเพณีปอยส่างลองหรืองานบวชลูกแก้ว เป็นประเพณีบวชเณรตามธรรมเนียมของชาวไทยใหญ่ เพื่อให้บุตรหลานได้มีโอกาสศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าและมีความ เชื่อว่าจะได้รับบุญกุศลจากการบวชสามเณร
ประวัติความเป็นมา งานประเพณีปอยส่างลองหรืองานบวชลูกแก้ว เป็นประเพณีบวชเณรตามธรรมเนียมของชาวไทยใหญ่ เพื่อให้บุตรหลานได้มีโอกาสศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าและมีความ เชื่อว่าจะได้รับบุญกุศลจากการบวชสามเณร งานนี้จัดให้มีขึ้นช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ช่วงปิดเทอมฤดูร้อน โดยชาวบ้านจะตกลงกันกำหนดวันนัดหมายให้ลูกหลานได้บวชเรียนพร้อมๆ กัน มีการประดับประดาผู้ที่จะบวชด้วยเครื่องประดับมีค่าอย่างสวยงาม และประกอบพิธีบวชตามวัดที่เจ้าภาพศรัทธา
แต่เดิมปอยส่างลองเป็นประเพณีที่จัดเฉพาะ ในหมู่ญาติมิตรของเจ้าภาพ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2525 ได้เกิดมีแนวความคิดใหม่โดยจัดเป็นบรรพชาหมู่ร่วมกันมากถึง 200 รูป เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี ทำให้ในเขตอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอนนิยมจัดบรรพชาหมู่สืบต่อมาถึงปัจจุบัน ปอยส่างลองจึงได้กลายเป็นประเพณีที่จูงใจให้มีผู้สนใจมากขึ้นกว่าแต่ก่อน
ลักษณะกิจกรรม งานปอยส่างลองหรืองานประเพณีบรรพชาสามเณร ตามแบบไทยใหญ่ กำหนดจัดขึ้นประมาณต้นเดือนเมษายนของทุกปีในทุกอำเภอของจังหวัดแม่ฮ่องสอน แต่สำหรับประเพณีปอยส่างลองในเขตเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอนนับเป็นการจัดงานที่ นักท่องเที่ยวให้ความสนใจมากที่สุดเนื่องจากมีขบวนแห่ส่างลองที่สวยงาม มีกิจกรรมที่สำคัญดังนี้
วันที่ 1 เรียกว่า “วันแห่ส่างลอง” โดย นำเด็กชายเข้าพิธีโกนแต่ไม่โกนคิ้ว (พระพม่าไม่โกนคิ้ว) แต่งหน้าทาปาก สวมเสื้อผ้าสวยงาม สวมถุงเท้ายาว นุ่งโสร่งและโพกผ้าแบบพม่า ประดับด้วยมวยผมของบรรพบุรุษที่เก็บรักษาไว้แล้วตกแต่งด้วยดอกไม้ เสร็จขั้นตอนนี้แล้วจะเรียกเด็กเหล่านี้ว่า “ส่างลอง” นำส่างลองไปขอขมาและรับศีลรับพรตามบ้านญาติผู้ใหญ่ที่นับถือ
วันที่ 2 เรียกว่า “วันแห่ครัวหลู่” มีการแห่ส่างลองกับเครื่องไทยทานจากวัดไปตามถนนสายต่างๆ จะมีผู้เข้าร่วมขบวนแห่เป็นจำนวนมาก โดยจะให้ส่างลองขี่ม้าหรือหากไม่มีม้าก็จะขี่คอคน ซึ่งเรียกว่าพี่เลี้ยง หรือ “ตะแปส่างลอง” มีกลดทอง หรือ “ทีคำ” แบบพม่ากันแดด ตอนเย็นมีพิธีเรียกขวัญส่างลองและข่ามแขกเป็นการรับแขกตอนกลางคืนอีกครั้งหนึ่ง รวมทั้งมีการแสดงและมหรสพสมโภชตามประเพณีไทยใหญ่
วันที่ 3 เรียกว่า “วันข่ามส่าง” เป็นวันบรรพชาสามเณรโดยการแห่ส่างลองไปตามถนนอีกครั้ง จากนั้นไปรวมกันที่วัดเพื่อทำพิธีบวชและเพื่อเป็นการสืบสานวัฒนะรรมและประเพณีอันดีงามของชาวไทยใหญ่ที่ศรัทธาในพระพุทธศาสนาจังหวัดแม่ฮ่องสอนจึงได้จัดงานประเพณีบวชลูกแก้ว “ปอยส่างลอง”