อุทยานแห่งชาติภูเวียงเป็นที่เที่ยวที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่ง คำว่า "ภูเวียง" เป็นชื่อท้องที่อำเภอที่เก่าแก่อำเภอหนึ่งของจังหวัดขอนแก่น และยังเป็นชื่อเรียกเทือกเขาซึ่งปัจจุบันได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดพื้นที่ป่าภูเวียงให้เป็นอุทยานแห่งชาติ
อุทยานแห่งชาติภูเวียง เมื่อพูดถึงอุทยานแห่งชาติภูเวียง นักท่องเที่ยวก็ต้องนึกถึงไดโนเสาร์ ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อนว่าบริเวณที่ราบสูงที่อยู่ในเขตประเทศไทยปัจจุบันนั้น จะเคยเป็นบ้านของไดโนเสาร์มาก่อนจนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2519 มีการสำรวจแหล่งแร่ยูเรเนียม ในบริเวณอุทยานแห่งชาติภูเวียง ระหว่างการสำรวจนักธรณีวิทยาได้ค้นพบซากกระดูกชิ้นหนึ่งเข้า และเมื่อส่งไปให้ผู้เชี่ยวชาญชาวฝรั่งเศสวิจัย ผลปรากฏออกมาว่าเป็นกระดูกหัวเข่าข้างซ้ายของไดโนเสาร์ จากนั้นนักสำรวจก็ได้ทำการขุดค้นกันอย่างจริงจังเรื่อยมากระทั่งปัจจุบัน
บนยอดภูประตูตีหมา หลุมขุดค้นที่ 1 ได้พบฟอสซิลไดโนเสาร์พันธุ์หนึ่ง มีลำตัวสูงใหญ่ประมาณ 15 เมตร คอยาว หางยาว เป็นพันธุ์กินพืชซึ่งไม่เคยพบที่ใดมาก่อน จึงได้อัญเชิญพระนามของสมเด็จพระเทพฯ มาตั้งชื่อ ไดโนเสาร์พันธุ์นี้ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติว่า "ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน่" (Phuwianggosauras Sirindhornae)และในบริเวณหลุมขุดค้นเดียวกันนั้นเอง นักสำรวจได้พบฟันของไดโนเสาร์ประเภทกินเนื้อปะปนอยู่มากกว่า 10 ซี่ ทำให้สันนิษฐานได้ว่าโซโรพอดตัวนี้ อาจเป็นอาหารของเจ้าของฟันเหล่านี้แต่ในกลุ่มฟันเหล่านี้มีอยู่หนึ่งซี่ ที่มีลักษณะแตกต่างกันออกไป เมื่อนำไปศึกษาปรากฎว่าฟันชิ้นนี้เป็นลักษณะฟันไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ ที่ไม่เคยค้นพบมาก่อนเช่นกัน จึงตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ค้นพบ นายวราวุธ สุธีธร ว่า "ไซแอมโมซอรัส สุธีธรนี่" (Siamosaurus Suteethorni)
ผู้สนใจสามารถเดินไปชมได้ หลุมขุดค้นที่ 1 นั้นอยู่ไม่ไกลจากที่ทำการอุทยานและยังสามารถเดินไปชมหลุมขุดค้นที่ 2 และที่ 3 ซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียงด้วย ฟอสซิล "ไซแอมโมไทรันนัส อีสานเอ็นซิส" (Siamotyrannus Isanensis) เป็นสิ่งที่ชี้ว่าไดโนเสาร์จำพวกไทรันโนซอร์ มีต้นกำเนิดในทวีปเอเชียเพราะฟอสซิลที่พบที่นี่เป็นชิ้นที่เก่าแก่ที่ สุด(120-130 ล้านปี) แต่กระดูกชิ้นนี้ได้นำไปจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์ในกรมทรัพยากรธรณี กรุงเทพฯ
บริเวณหินลาดป่าชาด หลุมขุดค้นที่ 8 พบรอยเท้าไดโนเสาร์จำนวน 68 รอยอายุประมาณ 140 ล้านปี เกือบทั้งหมดเป็นรอยเท้าไดโนเสาร์กินเนื้อพันธุ์เล็กที่สุดในโลกเดิน 2 เท้า แต่หนึ่งในรอยเท้าหล่านั้น มีขนาดใหญ่ผิดจากรอยอื่น คาดว่าเป็นของคาร์โนซอรัส การไปชมควรเดินทางด้วยรถขับเคลื่อน 4 ล้อ ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ห่างจากที่ทำการ 19 กิโลเมตร ส่วนฟอสซิลดึกดำบรรพ์อื่นๆ ที่ขุดพบ เช่น ซากลูกไดโนเสาร์ ซากจระเข้ขนาดเล็ก ซากหอย 150 ล้านปี จะอยู่กระจัดกระจายกันอยู่ตามหลุมต่างๆ
ความน่าสนใจของที่นี่ ไม่ได้มีเพียงแต่ไดโนเสาร์เท่านั้น ยังมีการพบร่องรอยอารยธรรมโบราณด้วย โดยพบ "พระพุทธรูปปางไสยาสน์" ประติมากรรมนูนสูงสลักบนหน้าผาของยอดเขาภูเวียง สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 14 ลักษณะท่านอนได้รับอิทธิพลจากอินเดีย พระเศียรหนุนแนบกับต้นแขนขวาแขนซ้ายทอดไปตามลำพระองค์ นอกจากนี้ "ถ้ำฝ่ามือแดง" ที่บ้านหินร่องมีงานศิลปะของมนุษย์ถ้ำโบราณ ลักษณะของภาพเกิดจากการพ่นสีแดงลงไป ในขณะที่มือทาบกับผนังถ้ำก่อให้เกิดเป็นรูปฝ่ามือขึ้น
ส่วนแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ในบริเวณอุทยานฯจะมีน้ำตกอยู่สองสามแห่ง "น้ำตกทับพญาเสือ" เป็นน้ำตกเล็กๆตั้งอยู่ใกล้กับถ้ำฝ่ามือแดง "น้ำตกตาดฟ้า" เป้นน้ำตกขนาดใหญ่ สูงประมาณ 15 เมตร สามารถเข้าถึงได้ทางรถยนต์อยู่ห่างจากอำเภอภูเวียง 18 กิโลเมตร และขึ้นเขาไปอีก 6 กิโลเมตร ตรงต่อไปจากน้ำตกตาดฟ้าอีก 5 กิโลเมตร จะถึง"น้ำตกตาดกลาง" นอกจากน้ำตกก็ยังมีแหล่งท่องเที่ยวประเภททุ่งหญ้าและลานหิน ซึ่งจะมีดอกไม้ป่านานาพันธุ์บานในช่วงหลังฤดูฝนได้แก่"ทุ่งใหญ่เสาอาราม" "หินลาดวัวถ้ำกวาง" และ"หินลาดอ่างกบ" พื้นที่อุทยานฯครอบคลุมอำเภอภูเวียง อำเภอสีชมพู และอำเภอชุมแพ มีพื้นที่ 380 ตารางกิโลเมตร
จากตัวเมืองขอนแก่นใช้เส้นทางขอนแก่น-ชุมแพ (ทางหลวงหมายเลข 12) เป็นระยะทาง 48 กิโลเมตร แยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2038 เป็นระยะทาง 18 กิโลเมตร ถึงอำเภอภูเวียง แล้วใช้เส้นทางภูเวียง-บ้านเมืองใหม่ ไปจนถึงกิโลเมตรที่ 23 จะเป็นบริเวณที่เรียกว่า“ปากช่องภูเวียง” ซึ่งมีหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติภูเวียงตั้งอยู่ เดินทางต่อไปจนถึงกิโลเมตรที่ 30 เลี้ยวซ้ายตรงทางเข้าอ่างเก็บน้ำบ้านโพธิ์ เป็นระยะทาง 8 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูเวียงที่ “ภูประตูตีหมา” ภายในอาคารมีการจัดแสดงนิทรรศการ และซากกระดูกส่วนต่างๆ ของไดโนเสาร์ที่ขุดพบบริเวณภูเวียง โดยมีคำอธิบายลักษณะและการเกิดซากต่างๆ เหล่านี้
หากประสงค์จะเข้าชมเป็นหมู่คณะ และต้องการเจ้าหน้าที่นำชม ติดต่อได้ที่สำนักงานอุทยานฯ บริเวณภูประตูตีหมา หรือ สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช