วัดเชตุพนเป็นที่เที่ยวที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่ง ลักษณะโดดเด่นของโบราณสถานแห่งนี้เป็นมณฑปจตุรมุขที่สร้างด้วยหินชนวน ประดิษฐานพระพุทธรูปสี่อิริยาบถ (นั่ง นอน ยืน เดิน) ขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถมองเห็นได้แต่ไกล
อยู่ห่างจากเขตเมืองชั้นในประมาณ 2 กม. ออกจากวัดต้นจันทน์ เดินทางต่อไปตามถนน ทางขวามือเป็นที่ตั้งของวัดเชตุพน ลักษณะโดดเด่นของโบราณสถานแห่งนี้เป็น มณฑปจตุรมุขที่สร้างด้วยหินชนวน ประดิษฐานพระพุทธรูปสี่อิริยาบถ (นั่ง นอน ยืน เดิน) ขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถมองเห็นได้แต่ไกล องค์พระพุทธรูปปั้นโดยรอบผนังอิฐซึ่งทำหน้าที่เป็นแกนรองรับหลังคา อันเป็นลักษณะที่พัฒนามาจากสถาปัตยกรรมของพม่าในเมืองพุกาม ทางด้านตะวันตกของมณฑปจตุรมุขนี้ มีมณฑปย่อมุมไม้ยี่สิบขนาดเล็ก มีหลังคาก่อซ้อนกันเป็นเสา และใช้หินชนวนขนาดใหญ่ทำเป็นเพดาน ยังปรากฏร่องรอยของพระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัยแต่ชำรุดมากแล้ว ที่ผนังด้านนอกมีลายเขียนสีดำ แสดงลักษณะแบบที่ปรากฏบนเครื่องถ้วยจีน เป็นลายพรรณพฤกษา
วัดเชตุพนยังมีสิ่งที่น่าดูอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ กำแพงแก้วที่ล้อมมณฑปจตุรมุขนี้สร้างจากหินชนวนที่มีขนาดใหญ่และหนา โดยมีการสกัดและบากหินเพื่อทำเป็นกรอบและซี่กรงเลียนแบบเครื่องไม้ และยังได้พบศิลาจารึกที่วัดนี้หลักที่ 58 จารึกในปี พ. ศ. 2057 กล่าวว่าเจ้าธรรมรังสีสร้างพระพุทธรูปในวัดนี้ ถัดจากมณฑปจตุรมุขและมณฑปย่อมุมไปทางตะวันตก มีลานก่ออิฐสูงราว 1 เมตร ใช้เป็นที่ปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์
วัดเชตุพนเป็นวัดที่มีขนาด ใหญ่มีคูน้ำล้อมรอบ สวยงามด้วยเทือกเขาหลวงซึ่งเห็นเป็นฉากหลัง ไม่ปรากฏหลักฐานว่าวัดนี้สร้างในสมัยใด เชื่อว่าในสมัยพ่อขุนรามคำแหงคงยังไม่สร้างขึ้น จารึกวัดสรศักดิ์กล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อกลางพุทธศตวรรษที่ 20 ว่าเมื่อพระมหาเถรธรรมไตรโลกฯ มีศักดิ์เป็นน้าของพระมหาธรรมราชาเจ้าเมืองสุโขทัยพระองค์หนึ่ง มาจำพรรษาอยู่ที่วัดสรศักดิ์ได้ร่วมชุมนุมกับพระวัดเชตุพนพิจารณาการสร้าง เจดีย์ช้างรอบและศาสนสถานอื่นๆ ที่วัดสรศักดิ์ จากข้อความที่ระบุชื่อวัดเชตุพนในศิลาจารึกหลักนี้ กล่าวถึงเจ้าธรรมรังษีซึ่งบวชได้ 22 พรรษา เป็นผู้มีจิตศรัทธาสร้างพระพุทธรูป ประกอบกับรูปแบบทางศิลปกรรมของที่นี่แสดงให้เห็นว่าวัดเชตุพนคงเป็นวัดที่มี ความสำคัญและเจริญรุ่งเรืองในช่วงสุโขทัยตอนปลาย