ประเพณีการแข่งเรือเป็นรูปแบบของการเล่นในฤดูน้ำหลากที่สร้างความสามัคคีของคนในหมู่บ้าน และคนต่างหมู่บ้านได้พบปะกัน เป็นการสร้างความสมานสามัคคีของสังคมได้ทางหนึ่ง
ความสำคัญ ประเพณีการแข่งเรือเป็นรูปแบบของการเล่นในฤดูน้ำหลากที่สร้างความสามัคคีของคนในหมู่บ้าน และคนต่างหมู่บ้านได้พบปะกัน เป็นการสร้างความสมานสามัคคีของสังคมได้ทางหนึ่ง
แต่เดิมแข่งที่ท่าน้ำบ้านวังหิน ต่อมาย้ายมาแข่งที่ลำตลาด ที่อำเภอพิมาย โดยจัดต่อเนื่องกันทุกปีจนถึงปัจจุบัน แต่เดิมเมื่อแต่ละหมู่บ้านทราบกำหนดการแข่งเรือล่วงหน้าก็จะฝึกซ้อมฝีพาย ซึ่งเป็นชายฉกรรจ์ในหมู่บ้านจนชำนาญ เมื่อใกล้ถึงวันแข่งเรือจะนำขึ้นมาขัดท้องเรือด้วยใบตองแห้ง เสร็จแล้วทาสีและลวดลายที่เรือและใบพาย แล้วทำพิธีไหว้เซ่นแม่ย่านางเรือเสร็จแล้วลากเรือลงน้ำฝีพายลงเรือโห่เอา ฤกษ์เอาชัย เรือแข่งของแต่ละหมู่บ้านจะมาพร้อมกันที่บริเวณสถานที่แข่งขันเมื่อพระฉัน จังหันแล้ว เมื่อได้เวลาเจ้าหน้าที่จะให้เรือแต่ละลำพาย แสดงตัวตามลำดับ ซึ่งจะเรียกชื่อตามที่มาถึงก่อนหลังตามชื่อเรือ เช่น มุนีจอมขวัญ เสมียนเสนาะเพราะสนั่นหมื่นสะท้านแผ่นดินไหว เป็นต้น เมื่อครบจำนวนแล้วจับสลากคู่แข่งกันในแต่ละประเภท โดยกำหนดที่ฝีพายเป็นเรือขนาดใหญ่ กลาง เล็ก แข่งขันจนกว่าจะได้เรือที่ชนะเลิศของแต่ละรุ่น ซึ่งขณะแข่งขันผู้ชมการแข่งขันสองฟากฝั่งจะโห่ร้องเมื่อเรือหมู่บ้านของตน ได้รับชัยชนะเป็นที่สนุกสนาน
ปัจจุบันประเพณีการแข่งเรือพิมาย นั้นได้พัฒนาการแข่งเรือแบบพื้นบ้านมาเป็นการแข่งเรือแห่งประเทศไทย และถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของงานเทศกาลเที่ยวพิมายในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี งานดังกล่าวถือเป็นหน้าตาของจังหวัดนครราชสีมา และนักท่องเที่ยวก็ให้ความสนใจมาเที่ยวชมงานเป็นจำนวนมาก กล่าวคือ เมื่อพูดถึงโคราชก็ต้องนึกถึงปราสาทหินพิมาย อีกทั้งอำเภอพิมายยังมีจุดเด่นอีกอย่าง คือ เทศกาลแข่งเรือ เพราะที่อำเภอพิมายมีลำน้ำจักราช ซึ่งเป็นลำน้ำกว้าง มีสายทางน้ำที่ยาว เป็นทางลำน้ำที่มีลักษณะตรงที่ยาวที่สุดในประเทศไทย และน้ำไม่ไหลเชี่ยว ผู้ชมสามารถนั่งชมการแข่งเรือได้ทั้งสองฟากฝั่ง ทำให้การแข่งเรือพิมายเป็นแบบอย่างการจัดการแข่งขันเรือ
ที่สำคัญคือ การแข่งเรือพิมาย นั้นเป็นการแข่งชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยการแข่งขันจัดขึ้นในวันที่ 12-13 พฤศจิกายน 2554 ณ สนามแข่งเรือ ลำน้ำจักราช อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา นอกจากการแข่งเรือแล้ว ยังมีกิจกรรมการแสดง การแข่งขันรายการอื่นๆ อีกหลายรายการ
1. ได้สืบทอดภูมิปัญญาและการช่างฝีมือ ในการสร้างเรือ การดูแลรักษา
2. เป็นกระบวนการสร้างพลังสามัคคี การเกาะเกี่ยวทางสังคม อย่างแน่นแฟ้น
3. ได้รักษาและสืบทอดประเพณีท้องถิ่นที่ดีงามให้คงไว้กับชุมชน
โดยผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดการเข้าชมงานและกิจกรรมอื่นๆ ได้ที่บริษัท พลัสมา อินโฟร์เทค จำกัด หรือ ที่ว่าการอำเภอพิมาย หรือ ททท. สำนักงานนครราชสีมา