ประเพณีกำฟ้า จัดขึ้นเพื่อขอพรจากเทพยดาผู้รักษาฟากฟ้า และบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล มักจะถือเอา วันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 3 เป็นวันสุกดิบ และวันรุ่งขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 เป็นวันกำฟ้า โดยชาวบ้านจะร่วมกันทำบุญใส่บาตร ด้วยข้าวหลามและข้าวจี่ตกบ่ายมีการละเล่นพื้นบ้าน
ประเพณีกำฟ้า เป็นประเพณีที่สำคัญของชาวไทยพวน คำว่า”กำ” ในภาษาพวนหมายถึง การนับถือสักการะ คำว่า “ฟ้า” หมายถึง เจ้าฟ้า เจ้าแผ่นดิน ผู้อยู่สูงเทียมฟ้า หรือเทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มองไม่เห็น คำว่า “กำฟ้า” จึงหมายถึง การนับถือการบูชาฟ้า
มีตำนานเล่าต่อ ๆ กันมาว่าสาเหตุที่เกิดวันกำฟ้า เนื่องจากสมัยหนึ่งเมืองพวนขึ้นอยู่กับนครเวียงจันทน์ และมีเจ้าชมพูเป็นกษัตริย์เมืองพวน นำทัพร่วมกับนครเวียงจันทน์ไปตีเมืองหลวงพระบาง แต่เจ้าชมพูได้ประกาศเอกราชไม่เป็นเมืองขึ้นของเวียงจันทน์ ทำให้เจ้านนท์แห่งนครเวียงจันทน์โกรธมาก ยกทัพมาปราบเมืองพวนและจับเจ้าชมพูได้ จึงสั่งให้ประการชีวิต ขณะที่ทำพิธีประหาร ฟ้าผ่าถูกด้ามหอกที่จะใช้ประหาร ทหารเวียงจันทน์ไปกราบทูลเจ้านนท์ให้ทราบเหตุอัศจรรย์นั้น เจ้านนท์จึงรับสั่งให้นำเจ้าชมพูกลับไปครองเมืองพวนตามเดิม ตั้งแต่เหตุการณ์ครั้งนั้น จึงทำให้เกิดประเพณีกำฟ้าสืบมาจนถึงปัจจุบัน ประกอบกับชาวไทยพวนมีอาชีพทำนาอยู่แล้ว จึงมีวิถีชีวิตผูกพันกับฟ้า ไม่กล้าทำให้ฟ้าพิโรธ เพราะกลัวฟ้าฝนฟ้าจะไม่ตกต้องตามฤดูกาล การจัดงานบุญกำฟ้านี้ ก็เพื่อให้ผีฟ้าเทวดามีความพึงพอใจ อีกทั้งยังเป็นการแสดงความขอบคุณผีฟ้าที่ประทานฝนให้ตกต้องตามฤดูกาลอีกด้วย
ประเพณีกำฟ้าของชาวไทยพวนในจังหวัดลพบุรีนั้น ตามประเพณีจะจัดตั้งแต่วันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 3 ซึ่งเป็นวันเตรียมงานหรือวันสุกดิบ คนในหมู่บ้านหรือสมาชิกในครัวเรือนจะช่วยกันทำข้าวปุ้น (ขนมจีน) ข้าวหลาม ข้าวจี่ (ข้าวเหนียวปั้นยัดไส้หวาน ไส้เค็ม ชุบไข่ และปิ้งไฟจนแห้งเกรียม)เพื่อนำสิ่งของดังกล่าวไปเซ่นไหว้ผีฟ้า นอกจากนี้ยังมีการสร้างปะรำสำหรับทำพิธีที่วัด ตอนเย็นจะนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ ผู้อาวุโสของหมู่บ้านจะประกอบพิธีเบิกบายศรี อัญเชิญเทพยดาผีฟ้ามารับเครื่องสังเวยและ มีการรำขอพร กล่าวคำขอให้ผีฟ้า ผีบ้าน ผีเรือน มาปกปักรักษาคนในครอบครัวให้อยู่ดีกินดี มีข้าวปลาอาหารบริบูรณ์ สิ่งสำคัญที่สุดของงานบุญนี้คือทุกคนต้องหยุดทำงานทั้งหลายทั้งปวง เพราะมีความเชื่อว่าหากผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามจะถูกฟ้าผ่าตายได้
สำหรับในวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 จะเป็นวันกำฟ้า ซึ่งเป็นวันสำคัญที่สุด ชาวบ้านจะตื่นแต่เช้าตรู่เพื่อเตรียมอาหารคาวหวานไปถวายพระและร่วมกันใส่บาตรข้าวหลามข้าวจี่ ตอนบ่ายจนถึงกลางคืนจะมีการละเล่นพื้นบ้าน เช่น เตะหม่าเบี้ย ต่อไก่ ไม้อื่อคร่อมเส้า ช่วงชัย มอญซ่อนผ้า และในช่วงเวลากำฟ้านั้น คนเฒ่าคนแก่ในครอบครัวจะคอยฟังเสียงฟ้าร้อง ซึ่งเป็นการพยากรณ์เกี่ยวกับความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพของคนในหมู่บ้าน โดยมีคำทำนายดังนี้ เสียงฟ้าร้อง หมายถึง ฟ้าเปิดประตูน้ำ
ฟ้าร้องทางทิศเหนือหรือทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ทำนายว่าฝนจะตกดี ทำนาจะได้ข้าวดี
ฟ้าร้องทางทิศใต้ ทำนายว่า ฝนจะแล้งข้าวกล้าในนาจะเสียหาย ชาวบ้านจะอดเกลือ
ฟ้าร้องทางทิศตะวันตก ทำนายว่าฝนจะน้อย เกิดความแห้งแล้ง ทำนาไม่ค่อยได้ผล นาในที่ลุ่มดี นาในที่ดอนจะเสียหาย ข้าวยากหมากแพง ชาวบ้านจะเดือดร้อน เกิดเรื่องทะเลาะวิวาท รบราฆ่าฟันกัน
ฟ้าร้องทางทิศตะวันออก ทำนายว่าชาวบ้านจะอยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข ไม่มีการรบราฆ่าฟันกัน ไม่มีโจรผู้ร้าย หลังจากำฟ้า 1 สัปดาห์ จะไปทำบุญที่วัดอีกครั้งหนึ่งโดยนำดุ้นฟืนที่ติดไฟ 1 ดุ้น ไปทิ้งตามแม่น้ำลำคลองให้ไหลไปตามสายน้ำ เพื่อเป็นการบูชารำลึกถึงเทพยดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ และเป็นการบอกกล่าวแก่เทวดาผีฟ้าว่าหมดเขตกำฟ้าแล้ว
ปัจจุบันงานกำฟ้าเปลี่ยนแปลงไปมากเพราะบ้านเมืองเจริญขึ้น การทำบุญต่าง ๆ ได้รวบรัดตัดรายละเอียดของพิธีลงไปบ้างปัจจุบันทางชมรมไทยพวนบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ได้จัดให้ชาวบ้านมาร่วมกันจัดงานทำบุญกำฟ้าที่ศูนย์ศิลปาชีพประชาสุขสันต์ ในตำบลบ้านกล้วย โดยให้แต่ละบ้านทำข้าวจี่มาถวายพระหลังจากตักบาตรเช้าที่วัดใกล้บ้านแล้ว ในช่วงบ่ายก็แข่งขันกีฬาพื้นบ้าน ตอนเย็นจัดให้มีงานสังสรรค์นอกจากนี้บางปีก็ยังมีการเส็งกลอง หรือการแข่งขันตีกลอง ซึ่งเป็นการละเล่นที่หาดูได้ยาก