งานเทศกาลชักพระหรืองานเดือน11 เราจะได้เห็นเรือพระมากมายบริเวณใต้ต้นชะเมาขนาดใหญ่ หน้าบ้านพักนายอำเภอโคกโพธิ์ ประกอบกับเสียงโห่ร้องของชาวบ้านช่วยกันลากจากวัดมารวมกันที่หน้าอำเภอ ทุกคนช่วยกันลาก เพื่อเอาบุญ เมื่อผ่านบ้านใครชาวบ้านจะเอาข้าวต้มโยนใส่เรือพระ
ประเพณีลากพระ หรือชักพระ
อำเภอโคกโพธิ์ จ.ปัตตานี
ประเพณีลากพระหรือชักพระ ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งเป็นวันออกพรรษา ทางภาคกลางมีประเพณีตักบาตรเทโว หรือคำเดิมว่า “เทโวโรหณะ” ซึ่ง มีที่มาของประเพณีและวิธีการทำพิธีคล้ายกับประเพณีลากพระของชาวใต้ และมีเหตุผลในการจัดงานนี้ คือ เมื่อครั้งที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จแสดงธรรมเทศนาโปรดพุทธมารดา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หรือดุสิตเทพพิภพนั้น พระองค์ได้เสด็จกลับมายังมนุษยโลกทางบันไดแก้วถึงที่ประตูเมืองสังกัสสะใน ตอนเช้าตรู่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ตรงกับวันออกพรรษา พุทธบริษัทต่างยินดีจึงอัญเชิญพระพุทธองค์ขึ้นประทับบนบุษบกที่ได้จัดเตรียมไว้ แล้วแห่แหนกลับไปยังที่ประทับ
กล่าวสำหรับจังหวัดปัตตานีแล้ว มีประเพณีลากพระเดือน 5 ที่วัดคอกควาย อำเภอปะนาเระ เป็นการลากพระบนบก ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี ปฏิบัติสืบต่อกันมานับร้อยปี มีวัตถุประสงค์เพื่อความสนุกสนานภายหลังจากวันว่างที่เป็นประเพณีวันสรงน้ำพระ และทำบุญกระดูกปู่ย่าตายาย ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5
สำหรับการเตรียมการทางวัดจะจัดเตรียมเรือพระ ซึ่งมีทั้งลากในน้ำ ถ้ามีลำน้ำ ถ้าไม่มีน้ำก็ลากเรือบก มีแท่นประดิษฐานพระพุทธรูปบนเรือพระ มีหลังคาทำเป็นบุษบกหรือชาวบ้านเรียก พนม ตกแต่งสวยงาม ส่วนชาวบ้านเตรียมอาหารที่สำคัญ คือ ข้าวต้มห่อด้วยใบกะพ้อ
เมื่อถึงวันงานจะเริ่มต้นที่วัดชาวบ้านนำ ข้าวต้มมัดมาบรรทุกในเรือพระ เมื่อพระฉันเสร็จสรรพแล้วก็ช่วยกันลากเรือพระออกจากวัดไปสู่ที่หมาย ประมาณว่าให้ไปถึงที่หมายก่อนเวลาพระฉันเพล พอตกบ่ายลากเรือพระกลับวัด ขากลับนี้ก็จะเป็นช่วงสนุกสนานที่ชาวบ้านทุกเพศทุกวัยมาเล่นสนุกกัน ตลอดเวลาของการชักพระจะมีการตีกลอง ฆ้อง ประโคมตลอดเวลา ส่วนรูปแบบการจัดก็แตกต่างกันไป เช่น บางวัดมีงานมหรสพแสดงที่วัด บางแห่งนำเรือพระไปค้างคืนมีการแสดงเป็นงานเทศกาล บางแห่งลากพระไปกลับก็จบกัน เป็นต้น