งานเสด็จพระแข่งเรือเป็นงานประเพณีที่สำคัญของอำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง จัดขึ้นในช่วงออกพรรษของทุกปี ประมาณเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน คือตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันแรม 3 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ณ บริเวณแม่น้ำกระบุรี ในช่วงคอคอดกระ
ช่วงเวลา งานเสด็จพระแข่งเรือเป็นงานประเพณีที่สำคัญของอำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง จัดขึ้นในช่วงออกพรรษของทุกปี ประมาณเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน คือตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันแรม 3 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ณ บริเวณแม่น้ำกระบุรี ในช่วงคอคอดกระ
ความสำคัญ เป็นประเพณีที่ชาวอำเภอกระบุรีจะร่วมกันตกแต่งเรืออย่างสวยงาม เพื่อไปพายกันในแม่น้ำกระบุรี มีการประกวดเรือประเภทต่าง ๆ งานเสด็จพระแข่งเรือจัดขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2450 โดยสืบทอดประเพณีมาจากทางใต้
งานเสด็จพระแข่งเรือ ถือเป็นงานที่เป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่นของชุมชนหมู่บ้านทับหลี ตำบลมะมุ อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง สมัยก่อนเรียกว่า "งานลากพระ" ก่อนออกพรรษา โดยเริ่มจัดครั้งแรกในปี พ.ศ.2450 แต่หลังจากนั้นได้หยุดจัดชั่วคราว และได้เริ่มจัดใหม่อีกครั้งเมื่อ พ.ศ.2523 จนถึงปัจจุบัน ในการจัดงานประเพณีเสด็จพระแข่งเรือจะจัดในช่วงวันออกพรรษา โดยแต่ละหมู่บ้านจะมีการตกแต่งเรือพระโดยจัดทำยอดพนม อย่างสวยงามนำมาประกวดกัน ต่อได้จัดให้มีการแข่งขันเรือชาวบ้านมีรางวัลมอบให้กับเรือที่ชนะการแข่งขัน จัดขึ้นบริเวณแม่น้ำกระบุรีช่วงคอคอดกระ มีชาวไทยและชาวพม่า เข้าร่วมงานจำนวนมากเป็นประจำทุกปี
นอกจากนี้ ยังมีประเพณีการร้องเพลงเรือ ซึ่งเป็นถือเป็นเพลงพื้นบ้านของภาคใต้ ประเภทหนึ่ง มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีลักษณะเป็นกลอนแปด หรือกลอนสี่สองวรรค ร้องเป็นภาษาท้องถิ่น คือภาษาพื้นเมืองสำเนียงปักษ์ใต้ ใช้ถ้อยคำคล้องจองกัน ท่วงทำนองเรียบง่าย ฟังง่าย มีคน ร้องนำเรียกว่า แม่เพลง และลูกคู่ เป็นผู้รับ ลูกคู่จะมีกี่คนก็ได้ ซึ่งแตกต่างจากเพลงเรือภาคกลาง เพลงเรือในสมัยเริ่มแรก จะร้องเป็นท่วงทำนองสั้น ๆ เช่น เฮโล เฮโล สาระพา สาว ๆ ไม่มาชักพระไม่ไป ฝ่ายหญิงจะร้องแก้ว่า เฮโล เฮโล สาระพา หนุ่ม ๆ ไม่มาชักพระไม่ไป ต่อมาจึงได้มีวิวัฒนาการขึ้นตามลำดับ
เรือลำหนึ่งๆ อาจจะมีผู้หญิงทั้งลำเรือหรือผู้ชายทั้งลำ หรือทั้งผู้หญิงผู้ชายอยู่ในเรือเดียวกัน สำหรับบทเพลงเรือแม่เพลงจะร้องเป็นเรื่องราว เช่น ร้องเรื่องประวัติงานเสด็จพระแข่งเรือ ประวัติการลอยกระทง ชมโฉมสตรี เกี้ยวพาราสี ฝากรัก ตัดพ้อต่อว่า ชมความงามตามธรรมชาติ ชมเรือพระ ชมผู้นำท้องถิ่น บทเพลงเชิญชวนคนลงเรือพาย เชิญชวนให้ละเว้นอบายมุข การต่อต้านภัยต่าง ๆ ฯลฯ เวลา พายเรือไปเทียบคู่กับเรือลำอื่น ก็อาจจะมีการโต้คารมกันระหว่างเรือสองลำ โดยผลัดกันร้องผลัดกันรับ ร้องโต้ตอบ ร้องแก้กัน ทำให้คนที่พายเรือสนุกสนาน เพลิดเพลินไม่เหนื่อย เกิดความสามัคคีกลมเกลียวกัน นอกจากนั้นการร้องเพลงเรือทำให้มีจังหวะทำนอง ในการโยกตัวและความพร้อมเพรียงในการพายดูแล้วสวยงาม
• นำเรือมาตกแต่งให้สวยงามทำเป็นเรือพระ โดยจัดทำพนมพระอยู่กลางลำเรือ
• อัญเชิญพระพุทธรูปไปประดิษฐานในพนมพระกลางลำเรือแล้วจัดสมโภชพระพุทธรูปกลางน้ำ
• หลังจากสมโภชพระพุทธรูปกลางน้ำแล้ว จะมีการแห่เรือพระไปตามลำน้ำกระบุรีซึ่งเป็นแม่น้ำกั้นพรมแดนระหว่างไทยกับพม่า
• การร้องเพลงเรือโดยเรือชาวบ้านมีการร้องเพลงเรือกันอย่างสนุกสนาน และมีการประกวดเพลงเรือด้วย
• มีการแข่งขันเรือประเภทต่างๆ เช่น ประกวดเรือยาว ประเภทสวยงาม ประเภทความคิด และประเภทตลกขบขัน
ความมุ่งหมายของประเพณี เป็นประเพณีที่รวมความสามัคคีของชาวอำเภอกระบุรี ประชาชนที่ไปอยู่ในต่างถิ่นจะดินทางกลับบ้านมาร่วมงานกันอย่างล้นหลาม สามารถสร้างความรักและผูกพันกับท้องถิ่นได้อย่างดี ประชาชนในจังหวัดใกล้เคียงและชาวพม่าต่างสนใจมาร่วมงานเสด็จพระแข่งเรือ จำนวนมากเป็นประจำทุกปี